รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control / G-Vectoring Control คืออะไร

รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control
Mazda 3 ปี 2017 minor change

รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control และ อธิบายคร่าวๆว่า G-Vectoring Control คืออะไร ทำงานอย่างไร



     ช่วงนี้มีรถเปิดตัวใหม่ที่เป็นโฉมไมเนอร์เชนจ์อยู่พอสมควร ซึ่งแต่ละค่ายก็มีกลยุทธ์ในการเพิ่มความสดใหม่ต่างกันไป บ้างก็เน้นที่ดีไซน์ภายนอก ส่วนภายในก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่สำหรับ Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าภายในอาจดูไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่เมื่อพูดถึงการขับขี่แล้วล่ะก็ เรียกว่าต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
     Mazda 3 โฉมนี้ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ทำตลาดเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก ชูจุดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็พท์ Kodo Design รวมถึงสมรรถนะการขับขี่ที่ถือเป็นตัวชูโรงของมาสด้าเรื่อยมา
215
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     จุดเปลี่ยนใน Mazda 3 ใหม่ แม้ว่าจะเป็นเพียงการปรับโฉมย่อย แต่ก็ไม่เพียงแต่ปรับหน้าตา หรือเพิ่มอ็อพชั่นเอาใจลูกค้าเหมือนที่ค่ายรถยนต์อื่นทำกันเท่านั้น
     หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นใน Mazda 3 โฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ คือ การเพิ่มระบบ G-Vectoring Control ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี SKYACTIV-VEHICLE DYNAMIC ที่ทำให้บุคลิกของรถคันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมราวกับคนละรุ่น รวมถึงเพิ่มระบบความปลอดภัยขั้นสูงเทียบชั้นรถยุโรปภายใต้ระบบ i-ACTIVESENSE ซึ่งนี่แหละ.. คือหัวใจสำคัญในการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้

     ปัจจุบัน Mazda 3 ใหม่ มีตัวถังให้เลือกทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และแฮทช์แบ็ค 5 ประตู ซึ่งแต่ละแบบจะมีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ได้แก่ 2.0E, 2.0C, 2.0S และ 2.0SP เพิ่มเติมในรุ่นซีดานที่เดิมจะไม่มี 2.0SP ให้เลือก เท่ากับว่า Mazda 3 ใหม่ จะมีให้เลือกทั้งหมดถึง 8 รุ่นย่อยตามแต่ความต้องการของแต่ละคน
     ตัวถังของ Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีสีตัวถังให้เลือกทั้งหมด 7 สี โดยเป็นสีใหม่ถึง 3 สี ได้แก่ สีเทาเมเทเออร์เกรย์, สีดำเจ็ทแบล็ค และสีน้ำเงินเอเทอร์นัลบลู ขณะที่สีไฮไลท์อย่างสีแดงโซลเรดยังคงมีให้เลือกเช่นเคย

     ดีไซน์ภายนอกของ Mazda 3 ใหม่ มีการออกแบบรูปลักษณ์ด้านหน้าใหม่ โดยในรุ่นท็อปสุด 2.0SP ที่เรามีโอกาสทดสอบนั้น ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED ที่ลดความเฉียบลงแต่ดูเคร่งขรึมมากขึ้น พร้อม Daytime Running Light ใหม่ที่ดูคลีนมากขึ้น ออกแบบรับกับกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ตกแต่งด้วยโครเมียม
     ขณะที่กันชนถูกออกแบบใหม่เช่นกัน (แม้ว่าจะดูไม่ค่อยต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก) ตกแต่งไฟเลี้ยวด้วยแถบโครเมียมเล็กๆ พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED

     ด้านข้างมีการออกแบบไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้างใหม่ให้มีลักษณะเป็นเส้นเรียว พร้อมทั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้วดีไซน์เดิม ที่ตกแต่งด้วยสีเทาเข้มเคลือบประกาย ขณะที่รุ่น 2.0E และ 2.0S จะเป็นล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วลายเดิม
     ขณะที่ด้านท้ายมีเพียงรุ่นตัวถังแบบแฮทช์แบ็คเท่านั้นที่มีการออกแบบกันชนใหม่ ขณะที่รุ่นซีดานเหมือนเดิมทุกอย่าง
208
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ภายในห้องโดยสารแม้ว่าจะยังคงใช้แผงคอนโซลหน้าและแผงประตูแบบเดิม ที่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเข้าไป ทำให้รู้สึกถึงความพรีเมี่ยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 3 ก้าน ตกแต่งด้วยโครเมียม เพิ่มแผงปิดที่วางแก้วดีไซน์หรูหรา พร้อมเปลี่ยนจากเบรกมือปกติเป็นแบบไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งปุ่มควบคุมไว้ใกล้กับสวิตช์ Center Commander บริเวณคอนโซลกลาง นอกจากนั้น ทุกรุ่นยังติดตั้งปุ่ม Drive Selection สำหรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่เป็นแบบสปอร์ตมาให้
     หน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้วถูกออกแบบใหม่เช่นกัน ซึ่งจากเดิมจะล้อมด้วยโครเมียมเงาทำให้แสงแดดสะท้อนเข้าตา บัดนี้ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้เป็นอย่างดี รวมถึงปรับปรุงหน้าจอ Active Driving Display ให้สามารถแสดงผลแบบสีได้ รวมถึงแสดงข้อมูลระบบนำทาง, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ และสัญญาณแจ้งเตือนต่างๆได้ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน


     เบาะนั่งถูกหุ้มด้วยหนังสีดำล้วน จากเดิมที่จะเดินด้วยด้ายสีแดง ฝั่งผู้ขับเป็นแบบปรับมือ 6 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทาง ขณะที่เบาะนั่งด้านหลังติดตั้งพนักพิงศีรษะมาให้ 3 ตำแหน่ง โดยตัวพนักพิงสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 ได้ทั้งรุ่นแฮทช์แบ็คและซีดาน พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดให้ครบทั้ง 5 ที่นั่ง

     ระบบเครื่องเสียงในรุ่น 2.0C ขึ้นมาสามารถสั่งงานผ่านหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว รองรับแผ่น CD/MP3 ได้ 1 แผ่น ซึ่งหน้าจอดังกล่าวสามารถใช้งานระบบสัมผัสได้ในกรณีรถหยุดนิ่ง หากรถมีการเคลื่อนที่จะบังคับให้ใช้ปุ่ม Center Commander บริเวณคอนโซลกลางเท่านั้น
     เครื่องเสียงชุดดังกล่าวมาพร้อมระบบ Bluetooth สำหรับเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ พร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียงในตัว ติดตั้งพอร์ต AUX รวมถึงพอร์ต USB จำนวน 2 จุด ขณะที่ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์มีให้ 1 จุด มีเฉพาะรุ่น 2.0E ที่เป็นรุ่นรุ่นล่างสุดเท่านั้นจึงจะมีให้ 2 จุด
211
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ในรุ่น 2.0SP ถูกติดตั้งระบบนำทางให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ขณะที่รุ่น 2.0C และ 2.0S จะต้องซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมแยกต่างหาก ซึ่งตัวระบบเองออกแบบให้รองรับไว้แล้ว โดยหน้าจอนี้ยังสามารถแสดงผลจากกล้องมองหลังได้ และยังมีเซ็นเซอร์กะระยะด้านท้ายมาให้เสริมความปลอดภัย (เฉพาะรุ่น 2.0S ขึ้นไป)

     มาถึงด้านระบบความปลอดภัยใน Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ที่กลายเป็นตัวชูโรงเลยก็ว่าได้ โดยระบบ i-ACTIVSENSE มีการเพิ่มฟังก์ชั่นเป็นทั้งหมด 10 ระบบ ประกอบด้วย
- ALH (Adaptive LED Headlamps) ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ ปรับการทำงานของไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติผ่านกล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกหน้า แยกอิสระซ้าย-ขวา สามารถส่องไฟสูงไปด้านหน้าโดยไม่รบกวนรถที่วิ่งสวนมาได้ โดยระบบจะมีการหลบหลีกองศาไฟให้อัตโนมัติ
- MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พร้อมปรับระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้า
- SBS (Smart Brake Support) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ
- DAA (Driver Attention Alert) ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเหนื่อยล้าขณะขับขี่  
- LAS (Lane-Keep Assist System) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน
- LDWS (Lane Departure Warning System) ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน
- SCBS (Smart City Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ
- SCBS-R (Smart City Brake Support-Reverse) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง
- ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน
- RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
     ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐานก็มีให้ครบครันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ม่านถุงลมนิรภัย,  ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC, ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ เป็นต้น
214
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ขุมพลังใน Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ทุกรุ่นจะถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ความจุ 2.0 ลิตร พร้อมระบบวาล์วแปรผันอัจฉริยะ Dual S-VT ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที รองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E85 ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด พร้อมโหมดเกียร์ธรรมดา Activematic ซึ่งเกียร์ลูกนี้ถือเป็นจุดเด่นของมาสด้าอีกชิ้น ในขณะที่ค่ายคู่แข่งเริ่มหันไปใช้เกียร์แบบซีวีทีแทบจะหมดแล้ว
     โดยผู้ขับขี่สามารถปรับเป็นโหมดธรรมดาได้ผ่านแป้น Paddle Shift ที่พวงมาลัย รวมถึงเพิ่มโหมดสปอร์ตที่สั่งงานผ่านปุ่ม Drive Selection ช่วยให้ตัวรถกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น

     ด้านช่วงล่างเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป้นแบบอิสระมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS ส่วนระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน
     ในรุ่น 2.0S และ 2.0SP ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง Dunlop SP Sport Maxx ขนาด 215/45 R18 ขณะที่รุ่น 2.0E และ 2.0C จะได้ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาวขนาด 205/60 R16

     ไฮไลท์สำคัญของ Mazda 3 ใหม่คันนี้ ก็คือ ระบบ G-Vectoring Control ที่ติดตั้งมาให้ทุกรุ่นย่อย ซึ่งหลักการทำงานของระบบที่ว่านี้ก็คือการควบคุมแรงบิดไปยังล้อแต่ละล้อที่เหมาะสมในขณะเข้าโค้ง ซึ่งจะช่วยให้ตัวรถเข้าโค้งได้แม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดอาการโคลงลงได้
     ระบบดังกล่าวจะประมวลผลจากองศาของพวงมาลัย ความเร็วของรถ รวมถึงน้ำหนักเท้าที่กดลงบนแป้นคันเร่ง จากนั้นจึงจะควบคุมแรงบิดไปยังล้อคู่หน้าข้างที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ช่วยดึงรถให้อยู่ในโค้งอย่างแม่นยำ
Mazda
G-Vectoring Control ทำงานอย่างไร

     ผลลัพธ์ที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการทำงานของ G-Vectoring Control คือ จะช่วยให้รถถ่ายน้ำหนักไปยังล้อคู่หน้า ซึ่งเป้นล้อที่ควบคุมน้ำหนักและทิศทาง ช่วยให้เกาะถนนมากขึ้นในขณะเข้าโค้ง และเมื่อออกจากโค้ง ระบบจะถ่ายน้ำหนักกลับมาด้านหลัง (เพราะ GVC ไม่มีการควบคุมแรงบิดแล้ว ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าตามปกติ) ช่วยให้รถวิ่งออกจากโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     เดิมทีผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้น เพราะ GVC จะทำงานด้วย 2 ล้อหน้าเท่านั้น ต่างจากระบบกระจายแรงบิดในรถขับเคลื่อนสี่ล้อหรูๆ ที่มีการกระจายแรงบิดได้ทุกล้อ แต่เมื่อได้ลองขับเท่านั้นแหละครับ... มันเปลี่ยนความคิดของผู้เขียนไปอย่างสิ้นเชิงเลยจริงๆ

     รถมาสด้า 3 คันที่เราได้รับมาทดสอบนั้น เป็นตัวถังซีดาน 4 ประตู รุ่นท็อปสุด 2.0SP ซึ่งเป็นรุ่นไฮไลท์ของการทดสอบครั้งนี้
     เริ่มต้นการทดสอบ เราเดินทางออกจากโชว์รูม ไซม์ ดาร์บี้ มาสด้า สาขาพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ โดยมีผู้โดยสารเต็มคันทั้งหมด 4 ท่านรวมคนขับ สิ่งแรกที่สัมผัสได้คืออัตราเร่งที่แทบไม่ต่างไปจากเดิมเลย กล่าวคือ มันยังคงให้อัตราเร่งที่ดีในระดับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรทั่วไป ไม่หนีจากคู่แข่งในตลาดนัก
234
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     แต่จุดเด่นของเครื่องยนต์ SKYACTIV-G บล็อกนี้ ก็คือแรงบิดสูงสุดที่มีให้ 210 นิวตัน-เมตร ในรอบเครื่องยนต์ที่ 4,000 รอบต่อนาที บุคลิกของมันจึงมีอาการคล้ายเครื่องยนต์ดีเซลอยู่นิดๆ นั่นหมายความว่ามันพอมีแรงดึงให้เล่นโดยไม่ต้องคิกดาวน์อย่างรุนแรงเหมือนเครื่องยนต์เบนซินทั่วไป การกดคันเร่งสักครึ่งหนึ่งของระยะทั้งหมด ก็พอจะเรียกเรี่ยวแรงให้พุ่งทะยานตามใจสั่งแล้ว แต่อย่างไรก็คงเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบจริงๆไม่ได้อยู่ดี
     การขับขี่ที่ความเร็วสูงประมาณ 120 กม./ชม. บนถนนมอเตอร์เวย์ขาออกมุ่งหน้าบางปะอิน ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดี พวงมาลัยให้ความมั่นคง หากสังเกตดีดีจะพบว่าพวงมาลัยไม่จำเป็นต้องแก้อาการเป๋ซ้ายทีขวาทีบ่อยครั้งเหมือนกับรถญี่ปุ่นคันอื่น ซึ่งมาสด้าระบุว่าเป็นผลมาจากระบบ G-Vectoring Control ด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ผู้เขียนสามารถจับพวงมาลัยได้อย่างนิ่งๆ ขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง แม้ว่าพื้นถนนจะไม่ราบเรียบนักก็ตาม ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นตามไปด้วย
233
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ระหว่างทางได้มีโอกาสทดสอบระบบ MRCC หรือ Mazda Radar Cruise Control ที่ช่วยปรับความเร็วตามคันหน้าได้อัตโนมัติ โดยเพียงแค่ตั้งความเร็วที่ต้องการไว้ จากนั้นรถจะคอยตรวจสอบระยะห่างระหว่างคันหน้าอยู่ตลอดเวลา หากรถคันหน้าชะลอช้าลง ระบบ MRCC ก็จะสั่งให้ชะลอความเร็วตามคันหน้าด้วยเช่นกัน
     แต่หากรถคันหน้าชะลอความเร็วจนต่ำกว่าประมาณ 20-25 กม./ชม. ระบบ MRCC จะตัดการทำงานออกไปอัตโนมัติพร้อมสัญญาณแจ้งเตือนบนหน้าปัด เป็นอันทราบว่าผู้ขับขี่จะต้องควบคุมคันเร่งด้วยตัวเองแล้ว
217
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     การเก็บเสียงทำได้ดีกว่ารุ่นที่แล้วพอสมควร เสียงจากพื้นถนนและช่วงล่างเล็ดลอดเข้ามาในระดับต่ำ ขณะที่เสียงลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน ช่วยให้บรรยากาศภายในรถรู้สึกผ่อนคลาย สมกับที่มาสด้าพยายามยกระดับรถคอมแพ็คคาร์ให้เข้าใกล้คำว่าพรีเมี่ยมมากที่สุดเท่าที่ต้นทุนของตัวรถจะเอื้ออำนวย
     หลังจากที่แวะรับประทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อย เราก็มุ่งหน้าต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยมีสื่อมวลชนอีกท่านเป็นผู้ขับ ซึ่งใครที่เคยไปจะทราบดีว่าเส้นทางบนอุทยานเขาใหญ่มีโค้งให้เล่นอยู่พอสมควร แถมเอื้ออำนวยให้ใช้ความเร็วได้พอสมควร จึงถือเป็นด่านทดสอบช่วงล่างของรถคันนี้ได้เป็นอย่างดี
241
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ในช่วงที่รถแล่นผ่านทางโค้งเหล่านั้น ผู้เขียนซึ่งนั่งอยู่เบาะหลัง ก็พอจะสัมผัสได้ว่าตัวรถมีอาการโยนน้อยกว่าที่คาด ทั้งๆที่ผู้ขับขี่ในขณะนั้นแทบไม่แตะเบรกด้วยซ้ำไป ตัวรถสามารถแล่นไปตามโค้งได้อย่างฉับไวรวดเร็วโดยที่ผู้โดยสารยังคงรู้สึกสบาย ไม่เหวี่ยง แม้แต่โค้งลึกๆ ที่คิดว่าจะต้องมีอาการโยนแรงๆกันบ้างล่ะ พอเอาเข้าจริงๆกลับรู้สึกว่าช่วงล่างของ Mazda 3 สามารถรักษาอาการได้ดีกว่าที่คิด ซึ่งเหล่านี้เป็นผลจากระบบ G-Vectoring Control ล้วนๆ
248
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     คุณงามความดีของช่วงล่าง Mazda 3 ใหม่ดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนอีกครั้ง เมื่อมาถึงช่วงการทดสอบที่ 2 ซึ่งมีการจำลองสถานการณ์เปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็วประมาณ 40 และ 60 กม./ชม. โดยมาสด้ายังได้นำเอา Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่ยังไม่มีระบบ GVC มาเทียบให้เห็นกับแบบจะจะด้วย
225
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ผลที่ได้คือ Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ เมื่อมีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน จะรู้สึกถึงแรงโยนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่รุ่นใหม่กลับรักษาอาการไว้ได้ดีกว่าอย่างน่าเหลือเชื่อ รวมถึงยังสามารถหักเลี้ยวได้อย่างฉับไว ตัวรถสามารถเบนทิศทางไปตามโค้งได้ดีกว่าอย่างชัดเจน จึงไม่แปลกที่รถคันนี้สามารถเข้าโค้งได้อย่างสนุกสนาน จนเรียกได้ว่าเป็นรถในกลุ่มซี-เซ็กเม้นต์ที่ขับสนุกที่สุดคันหนึ่งในตลาดขณะนี้ก็ว่าได้
254
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     สรุป Mazda 3 ใหม่ ยังคงพัฒนาต่อยอดการเป็นรถยนต์ที่ขับสนุกขึ้นไปได้อีก แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของรถคันนี้เอาไว้ ขณะที่ห้องโดยสารภายในเน้นผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าเป็นสำคัญ ทำให้พื้นที่โดยสารตอนหลังไม่กว้างขวางเท่ากับคู่แข่ง
     จุดเด่นสำคัญคือการอัดแน่นฟีเจอร์ความปลอดภัยแบบเต็มเอี้ยด ชนิดที่ว่ารถยุโรปยังได้แค่มองแบบปริบๆ แต่ฟีเจอร์ที่เป็นดาวเด่นของรถคันนี้ก็คือ G-Vectoring Control ที่เปลี่ยนบุคลิกของรถคันนี้ให้น่าขับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เมื่อได้ขับจะทราบทันทีว่ามันต่างจากคู่แข่งขนาดไหน ดังนั้น เราจึงขอแนะนำว่าคุณต้องไปลองรถคันนี้ด้วยตัวคุณเองครับ

228_1
Mazda 3 ปี 2017 minor change

ราคาจำหน่าย Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่
รุ่น Sedan
2.0SP - 1,119,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ)
2.0S - 988,000 บาท
2.0C - 928,000 บาท
2.0E - 847,000 บาท
รุ่น Hatchback
2.0SP Sports - 1,119,000 บาท
2.0S Sports - 988,000 บาท
2.0C Sports - 928,000 บาท
2.0E Sports -847,000 บาท

Sanook! Auto
สนับสนุนเนื้อหา

อยากขับรถประหยัดน้ำมัน 10 เทคนิคง่ายๆ นิดเดียวเอง คนญี่ปุ่นชอบทำ แสดงว่าใช้ได้ / how to save money while driving

  การขับขี่ประหยัดน้ำมันถือ ว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าราคาน้ำมันจะถูกลงมากก็ตาม แต่พลังงานเหล่านี้กำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้า ดังนั้นจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการขับขี่แบบประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะสายเกินไป วันนี้ขอนำเสนอวิธีการขับรถ ที่ช่วยคุณๆ ประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น โดยวิธีเหล่านี้ คนญี่ปุ่นชอบใช้ ยังไงเราก็ลองดูไม่เสียหาย
   

1.ออกตัวไม่รีบร้อน ค่อยๆเร่งไป ไม่ต้องรีบเหยีบ เพื่อแข่งออกตัวกับคนข้างๆ
     ผู้ขับขี่หลายคนเร่งความเร็วออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง รวดเร็วเกินความจำเป็น ซึ่งช่วงเร่งความเร็วนั้น ถือเป็นจังหวะที่เครื่องยนต์สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรออกตัวอย่างรีบร้อนหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ค่อยๆ ให้รอบมันขึ้นไป

2.ใช้ความเร็วคงที่ให้มากเท่าที่ทำได้ และรักษาระยะห่างกับรถคันหน้าอย่างเหมาะสม
     ควรเลี้ยงความเร็วให้คงที่อยู่เสมอ โดยเฉพาะการขับขี่ในกรุงเทพนั้น แม้จะเร่งความเร็วขนาดไหน ก็ไปติดสัญญาณไฟแดงข้างหน้าอยู่ดี ทางที่ดีควรใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด รวมถึงควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าอย่างเหมาะสม เพื่อจะไม่ต้องเหยียบเบรกบ่อยครั้งเกินไป ซึ่งเมื่อลดความเร็วลงแล้ว ก็จะต้องเพิ่มความเร็วกลับไปอีกครั้ง ทำให้เสียเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น

3.ปล่อยไหลแทนการกดเบรก โดยเฉพาะเวลาจะกำลังถึงไฟแดง หรือ เวลารถติดๆ
     ข้อนี้ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว คือควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าอย่างเหมาะสม หากจี้คันหน้ามากเกินไป จะทำให้ต้องเหยียบเบรกอยู่เป็นระยะ ส่งผลต่ออัตราสิ้นเปลืองโดยตรง

drive save
ขับรถให้ประหยัดน้ำมันทำไงดีน้า
4.ปรับอุณหภูมิแอร์ให้เหมาะสม
     แม้ว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน แต่การปรับอุณหภูมิให้เย็นเจี๊ยบตลอดเวลาก็อาจเกินความจำเป็นไป ทางที่ดีเร่งความเย็นเฉพาะช่วงขึ้นมานั่งบนรถใหม่ๆ ก็พอ เมื่อความเย็นได้ที่แล้วก็ปรับเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเล็กน้อย หากรู้สึกร้อนให้ลองเพิ่มความแรงลมดูก่อน ก็จะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นได้แล้ว เพราะยิ่งตั้งอุณหภูมิต่ำ คอมแอร์ ยิ่งทำงานหนักต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้กินแรงเครื่องมากขึ้น พอกินแรงมากขึ้น รอบเครื่องสูง ก็กินน้ำมันตามระเบียบ

5.ไม่วอร์มเครื่องยนต์โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะบ้านเราเป็นเมืองร้อน ดังนั้นการวอร์มเครื่องก็ไม่จำเป็นต้องนานจนเกินไป
     การวอร์มเครื่องยนต์ไม่จำเป็นต้องสตาร์ทเครื่อง ยนต์อยู่กับที่ แต่สามารถขับออกไปได้ทันที เพียงแต่ต้องใช้ความเร็วต่ำเสียก่อน ทางที่ดีไม่ควรเร่งเครื่องยนต์เกิน 2 พันรอบต่อนาที ในขณะที่เครื่องยนต์เย็นอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นความเร็วรอบเครื่องยนต์ที่เพียงพอกับการใช้งานโดยทั่วไป แล้ว


6.วางแผนเส้นทางเลี่ยงรถติด
     ปัญหารถติดถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ้นเปลือง เชื้อเพลิงเช่นกัน ทางที่ดีควรใช้เส้นทางเลี่ยงรถติด หรือเปลี่ยนเวลาในการเดินทางหากเป็นไปได้ เช่น กลับบ้านดึกขึ้นอีกนิดหน่อย เพื่อเลี่ยงการจราจรอันแสนสาหัสยามเย็น เป็นต้น

7.เช็คลมยางสม่ำเสมอ
     ลมยางที่อ่อนเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์ทำงานหนัก โดยไม่จำเป็น เนื่องจากมีแรงเสียดทานกับพื้นถนนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงควรเติมลมยางในระดับที่เหมาะสม และต้องไม่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้ยางเกิดความเสียหายได้ คำว่าเหมาะสม สำหรับบางท่านที่ไม่รู้ว่าจะเติมเท่าไหร่ดี ก็เริ่มจากมาตราฐานของรถที่ปรกติเขาจะติดเป็นสติกเกอร์ไว้ข้างคนขับ เวลาเราเปิดประตูรถไป จะเห็นติดอยู่ ลองอ่านดูจากตรงนั้น แล้วพอเราลองใช้ๆไป ถ้ารถกระด้าง หรือ มันกระเด้งมาก สำหรับรถบ้านๆ ก็ลดแรงดันลมลงนิดหน่อยได้ ปรกติ ก็ อยู่ช่วง 28-30 ก็กำลังดี ไม่ยวบยาบ ทุกของได้นิดหน่อย และก็โดยสารได้หลายคนอยู่

8.เอาสิ่งของไม่จำเป็นออกจากรถ
     ลองสำรวจดูว่าท้ายรถของคุณผู้อ่านมีสิ่งของไม่จำ เป็นหรือไม่ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สมรรถนะลดลง แถมกินน้ำมันมากขึ้นอีกต่างหาก

9.ปฏิบัติตามระเบียบการจอดรถ
     การจอดรถอย่างเป็นระเบียบจะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ขึ้นได้เช่นกัน เพราะผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องขยับรถเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่ง แถมยังอาจทำให้โดนค่าปรับอีกด้วย

10.เช็คอัตราสิ้นเปลืองอยู่เมสอ
     รถยนต์รุ่นใหม่ๆจะติดตั้งหน้าจอ MID ซึ่งสามารถแสดงอัตราสิ้นเปลืองได้ ควรหมั่นตรวจสอบและรีเซ็ตค่าอยู่เสมอ เพื่อคอยเช็คว่ารถมีอัตราสิ้นเปลืองอยู่ในระดับปกติหรือไม่

     เหล่านี้คือเทคนิคช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองของรถยนต์ที่ได้รับการปฏิบัติจากชาว ญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ซึ่งแม้ว่าไทยและญี่ปุ่นจะมีสภาพการจราจรที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าหากสามารถทำให้เพียงบางส่วน ก็จะถือเป็นการสร้างจิตสำนึกขับขี่ประหยัดน้ำมันที่ดี และช่วยเซฟเงินในกระเป๋าได้หลายสตางค์อยู่เหมือนกันครับ ต้องลองเองนะ

ขอบคุณบทความดีๆ จาก sanook.com

น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ เติมยังไง จำเป็นต้องเติมมั้ย? Radiator Coolant

coolant
น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ จำเป็นมั้ย?
น้ำยาหล่อเย็น (Coolant ) น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำอลูมิเนียม และ น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำทองแดง คืออะไร จำเป็นต่อระบบเครื่องยนต์มากแค่ไหน ทำไมถึงต้องเติมเข้าไปในระบบหม้อน้ำ ใช้แค่น้ำเปล่าอย่างเดียวไม่ได้เหรอ ฯลฯ คำถามเหล่านี้ หลายๆ คนอาจรู้คำตอบดีอยู่แล้ว แต่กับบางคนที่เป็นมือใหม่ หรือขับเป็นอย่างเดียว แต่ดูแลไม่เป็น ลองมารู้จักกับมันดูก่อน เพื่อจะได้เข้าใจถึงความสำคัญ และความจำเป็นต่อระบบของน้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำมากขึ้น เพื่อจะยืดอายุการใช้งานหม้อน้ำรถของเราไปนานๆ ด้วยเหตุว่าสมัยนี้หม้อน้ำที่ติดมากับรถนั้นจะเป็นหม้อน้ำที่ผลิตจากวัตถุดิบ อลูมิเนียมเป็นหลัก(บางซะด้วย) ซึ่งเกิดสนิมและการกัดกร่อนภายในท่อน้ำได้ง่าย ดังนั้นเราควรดูแลมันให้ดี มิเช่นนั้นแล้วก็ต้องเสียหลายตังถ้าต้องเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่ เพราะตัวหม้อน้ำอลูมิเนียมที่ติดมากับรถนั้น ซ่อมไม่ได้ ถึงแม้ใครบอกว่าได้ ก็ได้แค่ชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนใบใหม่อยู่ดี แถมถ้าชอบของศูนย์ด้วย ราคายิ่งสูงไปกันใหญ่เลย
  
สำหรับ น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ (Coolant) ส่วนประกอบหลักของมันจะมี น้ำ, สารหล่อเย็น(ETHYLENE GLYCOL), หัวเชื้อป้องกันสนิม และสีต่างๆ ฯลฯ ซึ่งถ้าพูดถึงคุณสมบัติจริงๆ ของมันแล้ว น้ำยาหล่อเย็น ไม่ได้มีหน้าที่ระบายความร้อน แต่จะช่วยทำให้จุดเดือดของน้ำที่ผสมน้ำยาหล่อเย็นสูงขึ้น ทำให้น้ำที่อยู่ในหม้อน้ำเดือดช้าลง

     น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ (Coolant ) ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ดังนี้
     1. ป้องกันน้ำในระบบแข็งตัวเป็นน้ำแข็งในจังหวะสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ๆ ซึ่งในบ้านเราจะไม่เห็นผลเท่าใดนัก เพราะเป็นเมืองร้อน
     2. เพิ่มจุดเดือดน้ำ คือชะลอการระเหยของน้ำในระบบหล่อเย็นเมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะเวลาน้ำเดือดมันจะระเหยกลายเป็นไอที่ 100C ํ ซึ่งถ้าผสมน้ำยาหม้อน้ำลงไปก็จะระเหยที่ 105 / 110  / 115 องศาเซลเซียส ตามสัดส่วนที่เราผสมลงไป
     3. ป้องกันการเกิดสนิม ตะกรัน ตะกอน เพราะเมื่อมีสนิมมันก็จะผุ กร่อน มีตะกอน น้ำยาจึงช่วยไม่ให้มีการอุดตันในรังผึ้งของหม้อน้ำ
     4. หล่อลื่นปั๊มน้ำ ซีลปั๊มน้ำ และวาล์วน้ำ

     และนี่คือความสำคัญของ น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ (Coolant) ที่มีประโยชน์ต่อเครื่องยนต์มากๆ ซึ่งหากเราไม่ใช้ หรือไม่เติมน้ำยา ใช้แค่น้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้ แต่มันจะส่งผลเสียต่อระบบระบายความร้อน และเครื่องยนต์อย่างรวดเร็ว เพราะหม้อน้ำรถยนต์ในปัจจุบันมักทำมาจากอะลูมิเนียม ทำให้สามารถเกิดสนิม ตะกรัน ตะกอน และเกิดการกัดกร่อนได้ง่าย โดยเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยการถอดท่อยางที่ต่อจากหม้อพักน้ำออกมาดู จะเห็นได้ว่ามันจะมีคราบ และร่องรอยของการเกิดตะกรัน ซึ่งหากร้ายแรงมากๆ อาจถูกกัดกร่อนจนแตก ผุ แหว่ง และนี่เองจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หม้อน้ำ แผงหม้อน้ำ และทางเดินน้ำเกิดการอุดตัน หรือรั่วซึม จนทำให้ระบบระบายความร้อนออกมาได้ไม่ดี น้ำในหม้อน้ำแห้ง จนเครื่องร้อนจัด และความร้อนขึ้น หรือก็คือโอเวอร์ฮีทนั่นเอง
     ส่วนการผสมใช้งาน น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) กับน้ำ ส่วนมากจะผสมกันในอัตราส่วน 50/50 หรือดูวิธีผสมได้ที่ข้างขวดของน้ำยายี่ห้อนั้นๆ และระยะการเปลี่ยนถ่ายก็ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น หรือน้ำยาที่ใช้ด้วย เช่น บางรุ่นกำหนดไว้ทุกๆ 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร และบางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000 – 200,000 กิโลเมตร ฯลฯ (ศึกษาดูเพิ่มเติมจากคู่มือยี่ห้อรถนั้นๆ)
     นอกจากนี้หากมีเวลา ควรเปิดฝากระโปรงหน้าอาทิตย์ละครั้งเพื่อสังเกตน้ำในหม้อน้ำ และหม้อพักน้ำสำรอง เพื่อจะได้รู้ทัน หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับหม้อน้ำ เช่น น้ำในหม้อน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด, น้ำแห้งเร็วเกินไป, มีคราบของน้ำยาหล่อเย็นหยด หรือเปื้อนตามจุดต่างๆ ที่เครื่องยนต์ และบนพื้นที่จอด ฯลฯ (สีของน้ำยาหม้อน้ำที่รั่วซึมจะสังเกตได้ง่าย เพราะสีที่ผสมเข้าไป เช่น สีเขียว สีชมพู ฯลฯ)


รถแอร์ไม่เย็น ทำไงดี และ วิธีป้องกัน

รถแอร์ไม่เย็น ทำไงดี และ วิธีป้องกัน

ช่วงนี้หน้าร้อนแล้ว และก็ร้อนมากๆด้วย ดังนั้นวันนี้อยากจะมาแนะนำวิธีที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องร้อนๆ บนรถมาฝากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน


แอร์เย็นๆ หน้าร้อน
ป้องกันปัญหา แอร์ไม่เย็น ช่วงหน้าร้อนนี้

 - เมื่อเปิดแอร์ หรือเครื่องยังเย็นอยู่ไม่ควรเปิดแอร์จนสุด เพราะควรให้คอมแอร์ได้วอร์มสักพักก่อนซัก 5 นาที ควรสตาร์ตเครื่องยนต์และให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงาน พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำทำงานก่อน จึงเปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ

     - ไม่ตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไป เพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา
     - เปิดสวิตช์พัดลมก่อนแล้วจึงกดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดไปที่ความเร็วพัดลมสูงสุดระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงลดลงไปยังความเร็วน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น


ปุ่ม A/C
ตัวอย่าางปุ่ม A/C

     - หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม หรือสเปรย์ปรับอากาศ เพราะไอระเหยของสารเคมีจะถูกดูดเข้าไปสะสมตัวที่ครีบเล็กๆ ของคอยล์เย็น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติดูดความชื้น ทำให้ฝุ่นผงจับตัวที่ครีบระบายความเย็น ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนจะลดลง คอมเพรสเซอร์จะทำงานมากขึ้น ให้ศูนย์บริการทำความสะอาดคอยล์เย็นเป็นครั้งคราวเมื่อรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศลดลง
     - ไม่ควรนำน้ำหอมชนิดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบไปเสียบไว้หน้าช่องแอร์ เพราะจะทำให้ตู้แอร์ผุกร่อนเร็วขึ้น
     - ก่อนถึงจุดหมายปลายทางประมาณ 15 นาที ปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดพัดลมไปที่ความเร็วสูงสุด เพื่อลดการทำงานคอมเพรสเซอร์และไล่ความชื้นออกจากคอยล์เย็น
     - เมื่อนำรถจอดตากแดดเป็นเวลานานๆ ก่อนใช้รถควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) เพื่อไล่ความร้อนที่มีอยู่ในระบบแอร์ออกเสียก่อน แล้วจึงค่อยเปิดน้ำยาแอร์ (เปิดสวิตช์ A/C)
     - ก่อนจอดรถทิ้งไว้นานๆ เช่น จอดข้ามคืน ควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) ประมาณ 5 นาที เพื่อไล่ความชื้น ไล่น้ำ ที่ค้างอยู่ในตู้แอร์ออกก่อน เพราะตู้แอร์ทำจากอะลูมิเนียมจะเกิดการผุกร่อนได้ง่าย และจะทำให้ตู้แอร์ลดการเหม็นอับอีกด้วย
     - จงจำไว้ว่า ระบบแอร์เป็นระบบปิด ดังนั้น เมื่อรถต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยๆ แสดงว่าเกิดการรั่วของระบบแอร์แล้ว
     - ไม่ควรเปิดกระจกขับรถบ่อย เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามาอุดตันในตู้แอร์ได้เร็วยิ่งขึ้น
     - เมื่อแอร์ไม่เย็น (กรณีเปิดน้ำยาแอร์แล้ว เปิดสวิตช์ A/C แล้ว) แต่ยังไม่เย็น ให้รีบปิดน้ำยาแอร์หรือสวิตช์ A/C ทันที เพราะอย่างน้อยๆ ถ้าเกิดการรั่วในระบบ น้ำยาแอร์และน้ำมันคอมเพรสเซอร์จะมีน้อยมากในระบบ จะทำให้คอมเพรสเซอร์พังมากขึ้นกว่าเดิม และควรนำรถไปเช็กให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้ใช้ลมเปล่าก่อนก็ได้
     - ควรล้างตู้แอร์ทุกๆ 2 ปี หรือถ้าใครเปิดกระจกขับรถบ่อย ให้ล้างทุกปี หรือตามเห็นสมควร
     - เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปิดกระจกขับรถ ควรปิดช่องแอร์บริเวณคอนโซลหรือจุดที่แอร์ออกให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฝุ่นเข้าไปในระบบแอร์น้อยที่สุด

     ขอบคุณบทความดีๆ จาก: นสพ.มติชน