วิธีแก้ไขฉุกเฉิน เวลาเกิดหม้อน้ำรั่วกลางทาง

การแก้ไขสถานการณ์ในเบื้องต้น กรณีเกิดหม้อน้ำรั่วกลางทาง หรือรู้สึกเหมือนกับว่าหม้อน้ำรั่ว หรือเห็นความร้อนขึ้นผิดปรกติขณะขับรถ

 
          ผู้ขับขี่ควรเรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขสถานการณ์เกิดการรั่วที่หม้อน้ำในเบื้องต้น โดยการตรวจเช็คอุปกรณ์ประจำรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะปริมาณน้ำในถังพักน้ำหน้ารถ รวมทั้งสายพาน พัดลมแอร์ พัดลมหม้อน้ำ ท่อยางที่ต่อกับส่วนต่างๆ ครีบรังผึ้งหม้อน้ำ และ ปั๊มน้ำ หากพบคราบน้ำเขียวๆที่รังผึ้ง หรือรอยรั่วตามจุดต่างๆ ให้จัดการแก้ไขทันที พร้อมตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำและถังพักน้ำเป็นประจำ

          สำหรับรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ควรหมั่นเช็คบ่อยขึ้น ในขณะขับขี่ให้คอยดูหน้าปัดเข็มวัดอุณหภูมิ หากเครื่องยนต์ร้อนจัด เข็ดจะตีขึ้นไปสูงกว่าปรกติ ให้รีบหาที่จอดริมทาง อย่าฝืนขับไป เพราะอาจทำให้เครื่องน็อคได้ แล้วคราวนี้เรื่องจะยาว พอจอดรถเสร็จให้เปิดกระโปรงหน้า และรอเครื่องยนต์เย็นลงสักพัก ห้ามเปิดหม้อน้ำดูโดยเด็ดขาด เพราะเวลาเครื่องร้อนจัดแรงดันน้ำจะเยอะและร้อนอีกด้วย ถ้าเปิดน้ำจะพุ่งขึ้นมาทันที และอาจจะได้อันตรายโดนน้ำร้อนลวกได้ ดังน้ำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอดทนรอให้เครื่องเย็นลงสักพัก จึงดูว่าน้ำในหม้อน้ำหายหรือไม่ ถ้าหายค่อยเติมน้ำลงไปในหม้อน้ำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้รถสามารถวิ่งไปอย่างช้าๆได้ก่อน จากนั้นให้นำรถไปเข้าศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถหรือร้านซ่อมหม้อน้ำในบริเวณใกล้เคียง เพื่อดำเนินการตรวจสอบและซ่อมแซม

          นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า อุบัติเหตุฉุกเฉินอีกรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดกับรถยนต์ คือ หม้อน้ำแห้งจนทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด ส่งผลให้เครื่องยนต์น็อคและควบคุมรถลำบาก อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย ขอแนะวิธีแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีหม้อน้ำรั่วและหม้อน้ำแห้ง ดังนี้

          1.  ก่อน ขับขี่ หมั่นตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ประจำรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น สายพานไม่หย่อนหรือตึงเกินไป พัดลมระบายความร้อนไม่บิดงอหรือแตกหัก และยังทำงานได้อยู่(หมายความว่าระบบไฟไม่มีปัญหาเวลาเครื่องร้อนแล้วพัดลมยังทำงานอยู่) หากพบรอยรั่วตามจุดต่างๆ เช่น ท่อยางหม้อน้ำ ครีบรังผึ้งหม้อน้ำ ปั้มน้ำ ให้รีบแก้ไขโดยด่วนอย่าปล่อยไว้ พร้อมกับเตรียมน้ำเปล่าใส่ขวดไว้ในรถ เป็นขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรทั่งไปก็ได้ สักขวดสองขวด ไว้ในรถ หากเกิดเหตุการณ์หม้อน้ำรั่วจนทำให้หม้อน้ำแห้งจะได้มีน้ำไว้เติมใส่หม้อน้ำได้

          2.  หมั่นคอยตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำอยู่เสมอ โดยการเปิดดูที่ถังพักน้ำก็ได้สำหรับรถที่ไม่มปากเติมน้ำ หรือต่อให้มีก็เช็คที่ถังพักน้ำก่อนได้ให้มีน้ำอยู่ในระดับที่มีการกำหนดไว้ รถใหม่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรตรวจสอบ 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยให้เติมน้ำสะอาดและถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทุก 4 - 6 เดือน เพื่อป้องกันสิ่งสกปกรกตกค้างจนหม้อน้ำเกิดการอุดตัน และไม่สามารถระบายความร้อนจากเครื่องยนต์ ไม่เติมน้ำเกินขีดที่กำหนด เพราะเมื่อน้ำเดือด หม้อน้ำจะเกิดการขยายตัว ทำให้หม้อน้ำแตกได้ และในกรณีที่เป็นหม้อน้ำทองแดงอย่าลืมเติมน้ำยาเคลือบกันสนิมลงไปด้วยเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของหม้อน้ำออกไปอีก

          3.  ขณะขับขี่ หมั่นสังเกตุที่หน้าปัด ว่าความร้อนอยู่ในระดับปรกติที่เป็นหรือไม่ ซึ่งอาการเครื่องยนต์ร้อนจัด เข็มวัดอุณหภูมิบนหน้าปัดจะแสดงให้เห็นชัดเจน มันจะขยับขึ้นสูงมาก หากเข็มวัดเลื่อนมาอยู่ใกล้ตัว H แสดงว่าเครื่องยนต์กำลังร้อนจัด ให้รีบนำรถจอดเข้าข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัยทันที แล้วเปิดฝากระโปรงหน้าไว้ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากห้องเครื่องได้เร็วขึ้น ก่อนดำเนินการแก้ไข

          4.  วิธีแก้ไขกรณีหม้อน้ำรั่วจนทำให้หม้อน้ำแห้งในเบื้องต้น เมื่อจอดเสร็จแล้ว ให้รีบเปิดฝากระโปรงหน้ารถ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากห้องเครื่องให้เร็วขึ้นจะได้ไม่ต้องรอนาน จากนั้นให้รอจนเครื่องยนต์เย็นลง จึงค่อยเปิดฝาหม้อน้ำ โดยใช้ผ้าช่วยจับเพราะอาจจะยังร้อนอยู่บ้าง หรือสวมถุงมือถ้ามีอยู่ อย่าเอาหน้าเราเข้าไปใกล้หม้อน้ำ เพราะแรงดันน้ำในหม้อน้ำ ที่น้ำยังอาจจะร้อนอยู่นั้น อาจพุ่งขึ้นมาโดนหน้าเราจนได้รับบาดเจ็บได้ ให้เติมน้ำทีละน้อยๆอย่างช้าๆ โดยทิ้งช่วงเวลาห่างกัน 5 นาที ในเวลาเดียวกันคอยสังเกตุดูระดับน้ำในหม้อน้ำ หากน้ำที่เติมลงไปแล้วไม่เต็กสักทีแถมมองไปใต้รถมีน้ำไหลไหลรั่วออกมาหมด สันนิฐานได้ก่อนเลยว่า หม้อน้ำแตก ให้แจ้งอู่ซ่อมรถได้เลย เพราะเราคงจะทำอะไรเองไม่ได้แล้ว ให้อู่มาลากรถไปแก้ไขต่อไป แต่ถ้าน้ำรั่วซึมเพียงเล็กน้อย ก็ยังสามารถขับรถต่อไปได้แต่อย่าขับเร็ว ให้หมั่นสังเกตเข็มวัดอุณหภูมิบนหน้าปัดรถ และเมื่อความร้อนขึ้นสูงให้หยุดรถเป็นระยะๆ แล้วทำแบบเดิมๆ จนกว่าถึงจุดหมายปลายทางและนำรถไปซ่อมหม้อน้ำ หรือแก้ไขต่อไป

 
ที่มาบางส่วน : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

No comments:

Post a Comment

Please leave your comment here!

Note: Only a member of this blog may post a comment.