สายพานหน้ารถ ทำงานอย่างไร มีไว้ทำไร สำคัญด้วยหรอ ดูแลยังไง

สายพานหน้าเครื่องคืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน?

สายพานหน้าเครื่องคืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน?

Silkspan
สนับสนุนเนื้อหา
     องค์ประกอบของเครื่องยนต์ที่จำเป็นต้องดูแลมีหลายส่วน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องหลักๆ อย่างเช่น ของเหลวต่างๆ แล้ว สายพานต่างๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสายพานมีหน้าที่ถ่ายทอดกำลังจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั่นเอง
     ซึ่งสายพานที่คุณมักจะได้ยินชื่อเสียงบ่อยๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น สายพานไทม์มิ่ง และ สายพานหน้าเครื่อง ซึ่ง มีหน้าที่ในการทำงานอยู่คนละส่วน แยกกันอย่างชัดเจน และที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะบางคนยังเข้าใจว่า สายพานทั้ง 2 แบบ คือสายพานตัวเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย
     สำหรับครั้งนี้เราจะขอพูดถึง สายพานหน้าเครื่อง ซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ไปขับเคลื่อนชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน โดยพลังงานในส่วนนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่น ซึ่งจะมีมู่เล่ย์คอยรับ และถ่ายทอดกำลังที่ได้เหล่านี้ไปยังระบบต่างๆ
     แต่ก่อนอื่นขออธิบายให้คนที่ยังไม่ทราบได้รู้กันก่อนว่า สายพานหน้าเครื่องที่พูดถึงมีอะไรบ้าง เช่น สายพานเพาเวอร์, สายพานไดชาร์จ, สายพานปั๊ม, สายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ ฯลฯ และสำหรับสมัยนี้รถใหม่ๆ ส่วนใหญ่ จะใช้สายพานเพียง1 - 2 เส้น คอยทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังชิ้นส่วนต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งมันแตกต่างจากเมื่อก่อน ที่จะใช้สายพานหลายๆ เส้นในการทำงานในแต่ละส่วน
118.jpg
     นอกจากนี้ สายพานหน้าเครื่อง มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 50,000 กิโลเมตร หรือ 2 – 3 ปี แต่ถ้าไม่มั่นใจ ก่อนถึงระยะให้เปิดฝากระโปรงหน้า แล้วตรวจเช็กเองก็ได้ เพราะมันอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน คุณก็เพียงแค่สังเกตดูว่า มีรอยแตกลายงา เนื้อยางแตกเป็นบั้งๆ หรือสายพานมีเส้นด้ายหลุดหลุ่ยออกมามากหรือไม่ ฯลฯ หากมีอาการตามที่กล่าวมา ให้เปลี่ยนใหม่ทันที เพราะหากใช้ต่อไป ถ้าสายพานขาด ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสายพานจะใช้งานไม่ได้ทันที และอาจทำให้ระบบเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
     และปัญหาของสายพานที่มักพบเจอได้บ่อยๆ ก็คือเรื่องของเสียงที่ดัง เอี๊ยดอ๊าด โดยเฉพาะตอนที่เครื่องยนต์ยังเย็น หรือตอนที่เพิ่งสตาร์ทใหม่ๆ ซึ่งสาเหตุที่สายพานดังอาจเป็นเพราะ ความตึงของสายพานหย่อนยานลงไป วิธีแก้ไขก็คือการตั้งระยะความตึงของสายพานใหม่ และหลังจากตั้งใหม่แล้ว ให้เช็กดูด้วยว่า หากกดสายพานลงไปมันต้องมีความตึง ไม่หย่อนลงไปเหมือนเดิมอีก
     สุดท้ายนี้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสายพาน ไม่ว่าจะเส้นไหน คุณควรรีบตรวจเช็กหาสาเหตุ เพราะถ้าวันใดสายพานเกิดขาดขึ้นมา แทนที่จะเสียเงินแค่ค่าสายพานเส้นใหม่ เผลอๆ อาจต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมในจุดอื่นที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยก็ได้

สายพานหน้ารถ ทำงานอย่างไร มีไว้ทำไร สำคัญด้วยหรอ ดูแลยังไง 

ขอบคุณเนื้อหาดีๆ นำมาแบ่งปันเพื่อนๆ

รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control / G-Vectoring Control คืออะไร

รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control
Mazda 3 ปี 2017 minor change

รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control และ อธิบายคร่าวๆว่า G-Vectoring Control คืออะไร ทำงานอย่างไร



     ช่วงนี้มีรถเปิดตัวใหม่ที่เป็นโฉมไมเนอร์เชนจ์อยู่พอสมควร ซึ่งแต่ละค่ายก็มีกลยุทธ์ในการเพิ่มความสดใหม่ต่างกันไป บ้างก็เน้นที่ดีไซน์ภายนอก ส่วนภายในก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่สำหรับ Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าภายในอาจดูไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่เมื่อพูดถึงการขับขี่แล้วล่ะก็ เรียกว่าต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
     Mazda 3 โฉมนี้ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ทำตลาดเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก ชูจุดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็พท์ Kodo Design รวมถึงสมรรถนะการขับขี่ที่ถือเป็นตัวชูโรงของมาสด้าเรื่อยมา
215
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     จุดเปลี่ยนใน Mazda 3 ใหม่ แม้ว่าจะเป็นเพียงการปรับโฉมย่อย แต่ก็ไม่เพียงแต่ปรับหน้าตา หรือเพิ่มอ็อพชั่นเอาใจลูกค้าเหมือนที่ค่ายรถยนต์อื่นทำกันเท่านั้น
     หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นใน Mazda 3 โฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ คือ การเพิ่มระบบ G-Vectoring Control ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี SKYACTIV-VEHICLE DYNAMIC ที่ทำให้บุคลิกของรถคันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมราวกับคนละรุ่น รวมถึงเพิ่มระบบความปลอดภัยขั้นสูงเทียบชั้นรถยุโรปภายใต้ระบบ i-ACTIVESENSE ซึ่งนี่แหละ.. คือหัวใจสำคัญในการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้

     ปัจจุบัน Mazda 3 ใหม่ มีตัวถังให้เลือกทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และแฮทช์แบ็ค 5 ประตู ซึ่งแต่ละแบบจะมีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ได้แก่ 2.0E, 2.0C, 2.0S และ 2.0SP เพิ่มเติมในรุ่นซีดานที่เดิมจะไม่มี 2.0SP ให้เลือก เท่ากับว่า Mazda 3 ใหม่ จะมีให้เลือกทั้งหมดถึง 8 รุ่นย่อยตามแต่ความต้องการของแต่ละคน
     ตัวถังของ Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีสีตัวถังให้เลือกทั้งหมด 7 สี โดยเป็นสีใหม่ถึง 3 สี ได้แก่ สีเทาเมเทเออร์เกรย์, สีดำเจ็ทแบล็ค และสีน้ำเงินเอเทอร์นัลบลู ขณะที่สีไฮไลท์อย่างสีแดงโซลเรดยังคงมีให้เลือกเช่นเคย

     ดีไซน์ภายนอกของ Mazda 3 ใหม่ มีการออกแบบรูปลักษณ์ด้านหน้าใหม่ โดยในรุ่นท็อปสุด 2.0SP ที่เรามีโอกาสทดสอบนั้น ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED ที่ลดความเฉียบลงแต่ดูเคร่งขรึมมากขึ้น พร้อม Daytime Running Light ใหม่ที่ดูคลีนมากขึ้น ออกแบบรับกับกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ตกแต่งด้วยโครเมียม
     ขณะที่กันชนถูกออกแบบใหม่เช่นกัน (แม้ว่าจะดูไม่ค่อยต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก) ตกแต่งไฟเลี้ยวด้วยแถบโครเมียมเล็กๆ พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED

     ด้านข้างมีการออกแบบไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้างใหม่ให้มีลักษณะเป็นเส้นเรียว พร้อมทั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้วดีไซน์เดิม ที่ตกแต่งด้วยสีเทาเข้มเคลือบประกาย ขณะที่รุ่น 2.0E และ 2.0S จะเป็นล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วลายเดิม
     ขณะที่ด้านท้ายมีเพียงรุ่นตัวถังแบบแฮทช์แบ็คเท่านั้นที่มีการออกแบบกันชนใหม่ ขณะที่รุ่นซีดานเหมือนเดิมทุกอย่าง
208
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ภายในห้องโดยสารแม้ว่าจะยังคงใช้แผงคอนโซลหน้าและแผงประตูแบบเดิม ที่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเข้าไป ทำให้รู้สึกถึงความพรีเมี่ยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 3 ก้าน ตกแต่งด้วยโครเมียม เพิ่มแผงปิดที่วางแก้วดีไซน์หรูหรา พร้อมเปลี่ยนจากเบรกมือปกติเป็นแบบไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งปุ่มควบคุมไว้ใกล้กับสวิตช์ Center Commander บริเวณคอนโซลกลาง นอกจากนั้น ทุกรุ่นยังติดตั้งปุ่ม Drive Selection สำหรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่เป็นแบบสปอร์ตมาให้
     หน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้วถูกออกแบบใหม่เช่นกัน ซึ่งจากเดิมจะล้อมด้วยโครเมียมเงาทำให้แสงแดดสะท้อนเข้าตา บัดนี้ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้เป็นอย่างดี รวมถึงปรับปรุงหน้าจอ Active Driving Display ให้สามารถแสดงผลแบบสีได้ รวมถึงแสดงข้อมูลระบบนำทาง, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ และสัญญาณแจ้งเตือนต่างๆได้ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน


     เบาะนั่งถูกหุ้มด้วยหนังสีดำล้วน จากเดิมที่จะเดินด้วยด้ายสีแดง ฝั่งผู้ขับเป็นแบบปรับมือ 6 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทาง ขณะที่เบาะนั่งด้านหลังติดตั้งพนักพิงศีรษะมาให้ 3 ตำแหน่ง โดยตัวพนักพิงสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 ได้ทั้งรุ่นแฮทช์แบ็คและซีดาน พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดให้ครบทั้ง 5 ที่นั่ง

     ระบบเครื่องเสียงในรุ่น 2.0C ขึ้นมาสามารถสั่งงานผ่านหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว รองรับแผ่น CD/MP3 ได้ 1 แผ่น ซึ่งหน้าจอดังกล่าวสามารถใช้งานระบบสัมผัสได้ในกรณีรถหยุดนิ่ง หากรถมีการเคลื่อนที่จะบังคับให้ใช้ปุ่ม Center Commander บริเวณคอนโซลกลางเท่านั้น
     เครื่องเสียงชุดดังกล่าวมาพร้อมระบบ Bluetooth สำหรับเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ พร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียงในตัว ติดตั้งพอร์ต AUX รวมถึงพอร์ต USB จำนวน 2 จุด ขณะที่ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์มีให้ 1 จุด มีเฉพาะรุ่น 2.0E ที่เป็นรุ่นรุ่นล่างสุดเท่านั้นจึงจะมีให้ 2 จุด
211
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ในรุ่น 2.0SP ถูกติดตั้งระบบนำทางให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ขณะที่รุ่น 2.0C และ 2.0S จะต้องซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมแยกต่างหาก ซึ่งตัวระบบเองออกแบบให้รองรับไว้แล้ว โดยหน้าจอนี้ยังสามารถแสดงผลจากกล้องมองหลังได้ และยังมีเซ็นเซอร์กะระยะด้านท้ายมาให้เสริมความปลอดภัย (เฉพาะรุ่น 2.0S ขึ้นไป)

     มาถึงด้านระบบความปลอดภัยใน Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ที่กลายเป็นตัวชูโรงเลยก็ว่าได้ โดยระบบ i-ACTIVSENSE มีการเพิ่มฟังก์ชั่นเป็นทั้งหมด 10 ระบบ ประกอบด้วย
- ALH (Adaptive LED Headlamps) ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ ปรับการทำงานของไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติผ่านกล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกหน้า แยกอิสระซ้าย-ขวา สามารถส่องไฟสูงไปด้านหน้าโดยไม่รบกวนรถที่วิ่งสวนมาได้ โดยระบบจะมีการหลบหลีกองศาไฟให้อัตโนมัติ
- MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พร้อมปรับระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้า
- SBS (Smart Brake Support) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ
- DAA (Driver Attention Alert) ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเหนื่อยล้าขณะขับขี่  
- LAS (Lane-Keep Assist System) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน
- LDWS (Lane Departure Warning System) ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน
- SCBS (Smart City Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ
- SCBS-R (Smart City Brake Support-Reverse) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง
- ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน
- RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
     ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐานก็มีให้ครบครันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ม่านถุงลมนิรภัย,  ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC, ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ เป็นต้น
214
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ขุมพลังใน Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ทุกรุ่นจะถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ความจุ 2.0 ลิตร พร้อมระบบวาล์วแปรผันอัจฉริยะ Dual S-VT ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที รองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E85 ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด พร้อมโหมดเกียร์ธรรมดา Activematic ซึ่งเกียร์ลูกนี้ถือเป็นจุดเด่นของมาสด้าอีกชิ้น ในขณะที่ค่ายคู่แข่งเริ่มหันไปใช้เกียร์แบบซีวีทีแทบจะหมดแล้ว
     โดยผู้ขับขี่สามารถปรับเป็นโหมดธรรมดาได้ผ่านแป้น Paddle Shift ที่พวงมาลัย รวมถึงเพิ่มโหมดสปอร์ตที่สั่งงานผ่านปุ่ม Drive Selection ช่วยให้ตัวรถกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น

     ด้านช่วงล่างเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป้นแบบอิสระมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS ส่วนระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน
     ในรุ่น 2.0S และ 2.0SP ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง Dunlop SP Sport Maxx ขนาด 215/45 R18 ขณะที่รุ่น 2.0E และ 2.0C จะได้ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาวขนาด 205/60 R16

     ไฮไลท์สำคัญของ Mazda 3 ใหม่คันนี้ ก็คือ ระบบ G-Vectoring Control ที่ติดตั้งมาให้ทุกรุ่นย่อย ซึ่งหลักการทำงานของระบบที่ว่านี้ก็คือการควบคุมแรงบิดไปยังล้อแต่ละล้อที่เหมาะสมในขณะเข้าโค้ง ซึ่งจะช่วยให้ตัวรถเข้าโค้งได้แม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดอาการโคลงลงได้
     ระบบดังกล่าวจะประมวลผลจากองศาของพวงมาลัย ความเร็วของรถ รวมถึงน้ำหนักเท้าที่กดลงบนแป้นคันเร่ง จากนั้นจึงจะควบคุมแรงบิดไปยังล้อคู่หน้าข้างที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ช่วยดึงรถให้อยู่ในโค้งอย่างแม่นยำ
Mazda
G-Vectoring Control ทำงานอย่างไร

     ผลลัพธ์ที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการทำงานของ G-Vectoring Control คือ จะช่วยให้รถถ่ายน้ำหนักไปยังล้อคู่หน้า ซึ่งเป้นล้อที่ควบคุมน้ำหนักและทิศทาง ช่วยให้เกาะถนนมากขึ้นในขณะเข้าโค้ง และเมื่อออกจากโค้ง ระบบจะถ่ายน้ำหนักกลับมาด้านหลัง (เพราะ GVC ไม่มีการควบคุมแรงบิดแล้ว ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าตามปกติ) ช่วยให้รถวิ่งออกจากโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     เดิมทีผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้น เพราะ GVC จะทำงานด้วย 2 ล้อหน้าเท่านั้น ต่างจากระบบกระจายแรงบิดในรถขับเคลื่อนสี่ล้อหรูๆ ที่มีการกระจายแรงบิดได้ทุกล้อ แต่เมื่อได้ลองขับเท่านั้นแหละครับ... มันเปลี่ยนความคิดของผู้เขียนไปอย่างสิ้นเชิงเลยจริงๆ

     รถมาสด้า 3 คันที่เราได้รับมาทดสอบนั้น เป็นตัวถังซีดาน 4 ประตู รุ่นท็อปสุด 2.0SP ซึ่งเป็นรุ่นไฮไลท์ของการทดสอบครั้งนี้
     เริ่มต้นการทดสอบ เราเดินทางออกจากโชว์รูม ไซม์ ดาร์บี้ มาสด้า สาขาพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ โดยมีผู้โดยสารเต็มคันทั้งหมด 4 ท่านรวมคนขับ สิ่งแรกที่สัมผัสได้คืออัตราเร่งที่แทบไม่ต่างไปจากเดิมเลย กล่าวคือ มันยังคงให้อัตราเร่งที่ดีในระดับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรทั่วไป ไม่หนีจากคู่แข่งในตลาดนัก
234
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     แต่จุดเด่นของเครื่องยนต์ SKYACTIV-G บล็อกนี้ ก็คือแรงบิดสูงสุดที่มีให้ 210 นิวตัน-เมตร ในรอบเครื่องยนต์ที่ 4,000 รอบต่อนาที บุคลิกของมันจึงมีอาการคล้ายเครื่องยนต์ดีเซลอยู่นิดๆ นั่นหมายความว่ามันพอมีแรงดึงให้เล่นโดยไม่ต้องคิกดาวน์อย่างรุนแรงเหมือนเครื่องยนต์เบนซินทั่วไป การกดคันเร่งสักครึ่งหนึ่งของระยะทั้งหมด ก็พอจะเรียกเรี่ยวแรงให้พุ่งทะยานตามใจสั่งแล้ว แต่อย่างไรก็คงเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบจริงๆไม่ได้อยู่ดี
     การขับขี่ที่ความเร็วสูงประมาณ 120 กม./ชม. บนถนนมอเตอร์เวย์ขาออกมุ่งหน้าบางปะอิน ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดี พวงมาลัยให้ความมั่นคง หากสังเกตดีดีจะพบว่าพวงมาลัยไม่จำเป็นต้องแก้อาการเป๋ซ้ายทีขวาทีบ่อยครั้งเหมือนกับรถญี่ปุ่นคันอื่น ซึ่งมาสด้าระบุว่าเป็นผลมาจากระบบ G-Vectoring Control ด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ผู้เขียนสามารถจับพวงมาลัยได้อย่างนิ่งๆ ขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง แม้ว่าพื้นถนนจะไม่ราบเรียบนักก็ตาม ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นตามไปด้วย
233
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ระหว่างทางได้มีโอกาสทดสอบระบบ MRCC หรือ Mazda Radar Cruise Control ที่ช่วยปรับความเร็วตามคันหน้าได้อัตโนมัติ โดยเพียงแค่ตั้งความเร็วที่ต้องการไว้ จากนั้นรถจะคอยตรวจสอบระยะห่างระหว่างคันหน้าอยู่ตลอดเวลา หากรถคันหน้าชะลอช้าลง ระบบ MRCC ก็จะสั่งให้ชะลอความเร็วตามคันหน้าด้วยเช่นกัน
     แต่หากรถคันหน้าชะลอความเร็วจนต่ำกว่าประมาณ 20-25 กม./ชม. ระบบ MRCC จะตัดการทำงานออกไปอัตโนมัติพร้อมสัญญาณแจ้งเตือนบนหน้าปัด เป็นอันทราบว่าผู้ขับขี่จะต้องควบคุมคันเร่งด้วยตัวเองแล้ว
217
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     การเก็บเสียงทำได้ดีกว่ารุ่นที่แล้วพอสมควร เสียงจากพื้นถนนและช่วงล่างเล็ดลอดเข้ามาในระดับต่ำ ขณะที่เสียงลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน ช่วยให้บรรยากาศภายในรถรู้สึกผ่อนคลาย สมกับที่มาสด้าพยายามยกระดับรถคอมแพ็คคาร์ให้เข้าใกล้คำว่าพรีเมี่ยมมากที่สุดเท่าที่ต้นทุนของตัวรถจะเอื้ออำนวย
     หลังจากที่แวะรับประทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อย เราก็มุ่งหน้าต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยมีสื่อมวลชนอีกท่านเป็นผู้ขับ ซึ่งใครที่เคยไปจะทราบดีว่าเส้นทางบนอุทยานเขาใหญ่มีโค้งให้เล่นอยู่พอสมควร แถมเอื้ออำนวยให้ใช้ความเร็วได้พอสมควร จึงถือเป็นด่านทดสอบช่วงล่างของรถคันนี้ได้เป็นอย่างดี
241
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ในช่วงที่รถแล่นผ่านทางโค้งเหล่านั้น ผู้เขียนซึ่งนั่งอยู่เบาะหลัง ก็พอจะสัมผัสได้ว่าตัวรถมีอาการโยนน้อยกว่าที่คาด ทั้งๆที่ผู้ขับขี่ในขณะนั้นแทบไม่แตะเบรกด้วยซ้ำไป ตัวรถสามารถแล่นไปตามโค้งได้อย่างฉับไวรวดเร็วโดยที่ผู้โดยสารยังคงรู้สึกสบาย ไม่เหวี่ยง แม้แต่โค้งลึกๆ ที่คิดว่าจะต้องมีอาการโยนแรงๆกันบ้างล่ะ พอเอาเข้าจริงๆกลับรู้สึกว่าช่วงล่างของ Mazda 3 สามารถรักษาอาการได้ดีกว่าที่คิด ซึ่งเหล่านี้เป็นผลจากระบบ G-Vectoring Control ล้วนๆ
248
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     คุณงามความดีของช่วงล่าง Mazda 3 ใหม่ดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนอีกครั้ง เมื่อมาถึงช่วงการทดสอบที่ 2 ซึ่งมีการจำลองสถานการณ์เปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็วประมาณ 40 และ 60 กม./ชม. โดยมาสด้ายังได้นำเอา Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่ยังไม่มีระบบ GVC มาเทียบให้เห็นกับแบบจะจะด้วย
225
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     ผลที่ได้คือ Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ เมื่อมีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน จะรู้สึกถึงแรงโยนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่รุ่นใหม่กลับรักษาอาการไว้ได้ดีกว่าอย่างน่าเหลือเชื่อ รวมถึงยังสามารถหักเลี้ยวได้อย่างฉับไว ตัวรถสามารถเบนทิศทางไปตามโค้งได้ดีกว่าอย่างชัดเจน จึงไม่แปลกที่รถคันนี้สามารถเข้าโค้งได้อย่างสนุกสนาน จนเรียกได้ว่าเป็นรถในกลุ่มซี-เซ็กเม้นต์ที่ขับสนุกที่สุดคันหนึ่งในตลาดขณะนี้ก็ว่าได้
254
Mazda 3 ปี 2017 minor change

     สรุป Mazda 3 ใหม่ ยังคงพัฒนาต่อยอดการเป็นรถยนต์ที่ขับสนุกขึ้นไปได้อีก แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของรถคันนี้เอาไว้ ขณะที่ห้องโดยสารภายในเน้นผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าเป็นสำคัญ ทำให้พื้นที่โดยสารตอนหลังไม่กว้างขวางเท่ากับคู่แข่ง
     จุดเด่นสำคัญคือการอัดแน่นฟีเจอร์ความปลอดภัยแบบเต็มเอี้ยด ชนิดที่ว่ารถยุโรปยังได้แค่มองแบบปริบๆ แต่ฟีเจอร์ที่เป็นดาวเด่นของรถคันนี้ก็คือ G-Vectoring Control ที่เปลี่ยนบุคลิกของรถคันนี้ให้น่าขับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เมื่อได้ขับจะทราบทันทีว่ามันต่างจากคู่แข่งขนาดไหน ดังนั้น เราจึงขอแนะนำว่าคุณต้องไปลองรถคันนี้ด้วยตัวคุณเองครับ

228_1
Mazda 3 ปี 2017 minor change

ราคาจำหน่าย Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่
รุ่น Sedan
2.0SP - 1,119,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ)
2.0S - 988,000 บาท
2.0C - 928,000 บาท
2.0E - 847,000 บาท
รุ่น Hatchback
2.0SP Sports - 1,119,000 บาท
2.0S Sports - 988,000 บาท
2.0C Sports - 928,000 บาท
2.0E Sports -847,000 บาท

Sanook! Auto
สนับสนุนเนื้อหา