สายพานหน้าเครื่องคืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน?
สนับสนุนเนื้อหา
ซึ่งสายพานที่คุณมักจะได้ยินชื่อเสียงบ่อยๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น สายพานไทม์มิ่ง และ สายพานหน้าเครื่อง ซึ่ง มีหน้าที่ในการทำงานอยู่คนละส่วน แยกกันอย่างชัดเจน และที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะบางคนยังเข้าใจว่า สายพานทั้ง 2 แบบ คือสายพานตัวเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย
สำหรับครั้งนี้เราจะขอพูดถึง สายพานหน้าเครื่อง ซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ไปขับเคลื่อนชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน โดยพลังงานในส่วนนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่น ซึ่งจะมีมู่เล่ย์คอยรับ และถ่ายทอดกำลังที่ได้เหล่านี้ไปยังระบบต่างๆ
แต่ก่อนอื่นขออธิบายให้คนที่ยังไม่ทราบได้รู้กันก่อนว่า สายพานหน้าเครื่องที่พูดถึงมีอะไรบ้าง เช่น สายพานเพาเวอร์, สายพานไดชาร์จ, สายพานปั๊ม, สายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ ฯลฯ และสำหรับสมัยนี้รถใหม่ๆ ส่วนใหญ่ จะใช้สายพานเพียง1 - 2 เส้น คอยทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังชิ้นส่วนต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งมันแตกต่างจากเมื่อก่อน ที่จะใช้สายพานหลายๆ เส้นในการทำงานในแต่ละส่วน
นอกจากนี้ สายพานหน้าเครื่อง มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 50,000 กิโลเมตร หรือ 2 – 3 ปี แต่ถ้าไม่มั่นใจ ก่อนถึงระยะให้เปิดฝากระโปรงหน้า แล้วตรวจเช็กเองก็ได้ เพราะมันอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน คุณก็เพียงแค่สังเกตดูว่า มีรอยแตกลายงา เนื้อยางแตกเป็นบั้งๆ หรือสายพานมีเส้นด้ายหลุดหลุ่ยออกมามากหรือไม่ ฯลฯ หากมีอาการตามที่กล่าวมา ให้เปลี่ยนใหม่ทันที เพราะหากใช้ต่อไป ถ้าสายพานขาด ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสายพานจะใช้งานไม่ได้ทันที และอาจทำให้ระบบเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
และปัญหาของสายพานที่มักพบเจอได้บ่อยๆ ก็คือเรื่องของเสียงที่ดัง เอี๊ยดอ๊าด โดยเฉพาะตอนที่เครื่องยนต์ยังเย็น หรือตอนที่เพิ่งสตาร์ทใหม่ๆ ซึ่งสาเหตุที่สายพานดังอาจเป็นเพราะ ความตึงของสายพานหย่อนยานลงไป วิธีแก้ไขก็คือการตั้งระยะความตึงของสายพานใหม่ และหลังจากตั้งใหม่แล้ว ให้เช็กดูด้วยว่า หากกดสายพานลงไปมันต้องมีความตึง ไม่หย่อนลงไปเหมือนเดิมอีก
สุดท้ายนี้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสายพาน ไม่ว่าจะเส้นไหน คุณควรรีบตรวจเช็กหาสาเหตุ เพราะถ้าวันใดสายพานเกิดขาดขึ้นมา แทนที่จะเสียเงินแค่ค่าสายพานเส้นใหม่ เผลอๆ อาจต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมในจุดอื่นที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยก็ได้