Mazda 3 ปี 2017 minor change
รีวิว Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดีที่ G-Vectoring Control และ อธิบายคร่าวๆว่า G-Vectoring Control คืออะไร ทำงานอย่างไร
ช่วงนี้มีรถเปิดตัวใหม่ที่เป็นโฉมไมเนอร์เชนจ์อยู่พอสมควร
ซึ่งแต่ละค่ายก็มีกลยุทธ์ในการเพิ่มความสดใหม่ต่างกันไป
บ้างก็เน้นที่ดีไซน์ภายนอก ส่วนภายในก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่สำหรับ Mazda
3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าภายในอาจดูไม่ต่างจากเดิมมากนัก
แต่เมื่อพูดถึงการขับขี่แล้วล่ะก็
เรียกว่าต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
Mazda 3
โฉมนี้ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ทำตลาดเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3
ทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก
ชูจุดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็พท์ Kodo Design
รวมถึงสมรรถนะการขับขี่ที่ถือเป็นตัวชูโรงของมาสด้าเรื่อยมา
Mazda 3 ปี 2017 minor change
จุดเปลี่ยนใน Mazda 3 ใหม่
แม้ว่าจะเป็นเพียงการปรับโฉมย่อย แต่ก็ไม่เพียงแต่ปรับหน้าตา
หรือเพิ่มอ็อพชั่นเอาใจลูกค้าเหมือนที่ค่ายรถยนต์อื่นทำกันเท่านั้น
หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นใน Mazda 3
โฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ คือ การเพิ่มระบบ G-Vectoring Control
ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี SKYACTIV-VEHICLE DYNAMIC
ที่ทำให้บุคลิกของรถคันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมราวกับคนละรุ่น
รวมถึงเพิ่มระบบความปลอดภัยขั้นสูงเทียบชั้นรถยุโรปภายใต้ระบบ
i-ACTIVESENSE ซึ่งนี่แหละ.. คือหัวใจสำคัญในการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้
ปัจจุบัน Mazda 3 ใหม่
มีตัวถังให้เลือกทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และแฮทช์แบ็ค 5 ประตู
ซึ่งแต่ละแบบจะมีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ได้แก่ 2.0E, 2.0C, 2.0S และ
2.0SP เพิ่มเติมในรุ่นซีดานที่เดิมจะไม่มี 2.0SP ให้เลือก เท่ากับว่า Mazda
3 ใหม่ จะมีให้เลือกทั้งหมดถึง 8 รุ่นย่อยตามแต่ความต้องการของแต่ละคน
ตัวถังของ Mazda 3 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่
มีสีตัวถังให้เลือกทั้งหมด 7 สี โดยเป็นสีใหม่ถึง 3 สี ได้แก่
สีเทาเมเทเออร์เกรย์, สีดำเจ็ทแบล็ค และสีน้ำเงินเอเทอร์นัลบลู
ขณะที่สีไฮไลท์อย่างสีแดงโซลเรดยังคงมีให้เลือกเช่นเคย
ดีไซน์ภายนอกของ Mazda 3 ใหม่
มีการออกแบบรูปลักษณ์ด้านหน้าใหม่ โดยในรุ่นท็อปสุด 2.0SP
ที่เรามีโอกาสทดสอบนั้น ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED
ที่ลดความเฉียบลงแต่ดูเคร่งขรึมมากขึ้น พร้อม Daytime Running Light
ใหม่ที่ดูคลีนมากขึ้น ออกแบบรับกับกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ตกแต่งด้วยโครเมียม
ขณะที่กันชนถูกออกแบบใหม่เช่นกัน
(แม้ว่าจะดูไม่ค่อยต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก)
ตกแต่งไฟเลี้ยวด้วยแถบโครเมียมเล็กๆ พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED
ด้านข้างมีการออกแบบไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้างใหม่ให้มีลักษณะเป็นเส้นเรียว
พร้อมทั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้วดีไซน์เดิม
ที่ตกแต่งด้วยสีเทาเข้มเคลือบประกาย ขณะที่รุ่น 2.0E และ 2.0S
จะเป็นล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วลายเดิม
ขณะที่ด้านท้ายมีเพียงรุ่นตัวถังแบบแฮทช์แบ็คเท่านั้นที่มีการออกแบบกันชนใหม่ ขณะที่รุ่นซีดานเหมือนเดิมทุกอย่าง
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ภายในห้องโดยสารแม้ว่าจะยังคงใช้แผงคอนโซลหน้าและแผงประตูแบบเดิม
ที่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเข้าไป
ทำให้รู้สึกถึงความพรีเมี่ยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 3
ก้าน ตกแต่งด้วยโครเมียม เพิ่มแผงปิดที่วางแก้วดีไซน์หรูหรา
พร้อมเปลี่ยนจากเบรกมือปกติเป็นแบบไฟฟ้า
ซึ่งติดตั้งปุ่มควบคุมไว้ใกล้กับสวิตช์ Center Commander บริเวณคอนโซลกลาง
นอกจากนั้น ทุกรุ่นยังติดตั้งปุ่ม Drive Selection
สำหรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่เป็นแบบสปอร์ตมาให้
หน้าจอ Center Display ขนาด 7
นิ้วถูกออกแบบใหม่เช่นกัน
ซึ่งจากเดิมจะล้อมด้วยโครเมียมเงาทำให้แสงแดดสะท้อนเข้าตา
บัดนี้ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้เป็นอย่างดี
รวมถึงปรับปรุงหน้าจอ Active Driving Display ให้สามารถแสดงผลแบบสีได้
รวมถึงแสดงข้อมูลระบบนำทาง, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
และสัญญาณแจ้งเตือนต่างๆได้ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน
เบาะนั่งถูกหุ้มด้วยหนังสีดำล้วน
จากเดิมที่จะเดินด้วยด้ายสีแดง ฝั่งผู้ขับเป็นแบบปรับมือ 6 ทิศทาง
ฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทาง
ขณะที่เบาะนั่งด้านหลังติดตั้งพนักพิงศีรษะมาให้ 3 ตำแหน่ง
โดยตัวพนักพิงสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 ได้ทั้งรุ่นแฮทช์แบ็คและซีดาน
พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดให้ครบทั้ง 5 ที่นั่ง
ระบบเครื่องเสียงในรุ่น 2.0C
ขึ้นมาสามารถสั่งงานผ่านหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว รองรับแผ่น
CD/MP3 ได้ 1 แผ่น
ซึ่งหน้าจอดังกล่าวสามารถใช้งานระบบสัมผัสได้ในกรณีรถหยุดนิ่ง
หากรถมีการเคลื่อนที่จะบังคับให้ใช้ปุ่ม Center Commander
บริเวณคอนโซลกลางเท่านั้น
เครื่องเสียงชุดดังกล่าวมาพร้อมระบบ Bluetooth
สำหรับเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ พร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียงในตัว
ติดตั้งพอร์ต AUX รวมถึงพอร์ต USB จำนวน 2 จุด ขณะที่ช่องจ่ายไฟ 12
โวลต์มีให้ 1 จุด มีเฉพาะรุ่น 2.0E
ที่เป็นรุ่นรุ่นล่างสุดเท่านั้นจึงจะมีให้ 2 จุด
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ในรุ่น 2.0SP
ถูกติดตั้งระบบนำทางให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ขณะที่รุ่น 2.0C และ 2.0S
จะต้องซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมแยกต่างหาก
ซึ่งตัวระบบเองออกแบบให้รองรับไว้แล้ว
โดยหน้าจอนี้ยังสามารถแสดงผลจากกล้องมองหลังได้
และยังมีเซ็นเซอร์กะระยะด้านท้ายมาให้เสริมความปลอดภัย (เฉพาะรุ่น 2.0S
ขึ้นไป)
มาถึงด้านระบบความปลอดภัยใน Mazda 3
ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ที่กลายเป็นตัวชูโรงเลยก็ว่าได้ โดยระบบ i-ACTIVSENSE
มีการเพิ่มฟังก์ชั่นเป็นทั้งหมด 10 ระบบ ประกอบด้วย
- ALH (Adaptive LED Headlamps) ระบบไฟหน้า LED
อัจฉริยะ
ปรับการทำงานของไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติผ่านกล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกหน้า
แยกอิสระซ้าย-ขวา สามารถส่องไฟสูงไปด้านหน้าโดยไม่รบกวนรถที่วิ่งสวนมาได้
โดยระบบจะมีการหลบหลีกองศาไฟให้อัตโนมัติ
- MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พร้อมปรับระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้า
- SBS (Smart Brake Support) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ
- DAA (Driver Attention Alert) ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเหนื่อยล้าขณะขับขี่
- LAS (Lane-Keep Assist System) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน
- LDWS (Lane Departure Warning System) ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน
- SCBS (Smart City Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ
- SCBS-R (Smart City Brake Support-Reverse) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง
- ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน
- RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐานก็มีให้ครบครันเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ม่านถุงลมนิรภัย, ระบบเบรก ABS/EBD,
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC,
ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA,
กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ เป็นต้น
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ขุมพลังใน Mazda 3
ไมเนอร์เชนจ์ทุกรุ่นจะถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ความจุ 2.0
ลิตร พร้อมระบบวาล์วแปรผันอัจฉริยะ Dual S-VT ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า
ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที
รองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E85 ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ
SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด พร้อมโหมดเกียร์ธรรมดา Activematic
ซึ่งเกียร์ลูกนี้ถือเป็นจุดเด่นของมาสด้าอีกชิ้น
ในขณะที่ค่ายคู่แข่งเริ่มหันไปใช้เกียร์แบบซีวีทีแทบจะหมดแล้ว
โดยผู้ขับขี่สามารถปรับเป็นโหมดธรรมดาได้ผ่านแป้น
Paddle Shift ที่พวงมาลัย รวมถึงเพิ่มโหมดสปอร์ตที่สั่งงานผ่านปุ่ม Drive
Selection ช่วยให้ตัวรถกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น
ด้านช่วงล่างเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า
พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป้นแบบอิสระมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง
ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS ส่วนระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน
ในรุ่น 2.0S และ 2.0SP ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18
นิ้ว พร้อมยาง Dunlop SP Sport Maxx ขนาด 215/45 R18 ขณะที่รุ่น 2.0E และ
2.0C จะได้ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาวขนาด 205/60 R16
ไฮไลท์สำคัญของ Mazda 3 ใหม่คันนี้ ก็คือ ระบบ
G-Vectoring Control ที่ติดตั้งมาให้ทุกรุ่นย่อย
ซึ่งหลักการทำงานของระบบที่ว่านี้ก็คือการควบคุมแรงบิดไปยังล้อแต่ละล้อที่เหมาะสมในขณะเข้าโค้ง
ซึ่งจะช่วยให้ตัวรถเข้าโค้งได้แม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดอาการโคลงลงได้
ระบบดังกล่าวจะประมวลผลจากองศาของพวงมาลัย
ความเร็วของรถ รวมถึงน้ำหนักเท้าที่กดลงบนแป้นคันเร่ง
จากนั้นจึงจะควบคุมแรงบิดไปยังล้อคู่หน้าข้างที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ
ช่วยดึงรถให้อยู่ในโค้งอย่างแม่นยำ
G-Vectoring Control ทำงานอย่างไร
ผลลัพธ์ที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการทำงานของ G-Vectoring Control คือ
จะช่วยให้รถถ่ายน้ำหนักไปยังล้อคู่หน้า
ซึ่งเป้นล้อที่ควบคุมน้ำหนักและทิศทาง ช่วยให้เกาะถนนมากขึ้นในขณะเข้าโค้ง
และเมื่อออกจากโค้ง ระบบจะถ่ายน้ำหนักกลับมาด้านหลัง (เพราะ GVC
ไม่มีการควบคุมแรงบิดแล้ว ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าตามปกติ)
ช่วยให้รถวิ่งออกจากโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เดิมทีผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้น
เพราะ GVC จะทำงานด้วย 2 ล้อหน้าเท่านั้น
ต่างจากระบบกระจายแรงบิดในรถขับเคลื่อนสี่ล้อหรูๆ
ที่มีการกระจายแรงบิดได้ทุกล้อ แต่เมื่อได้ลองขับเท่านั้นแหละครับ...
มันเปลี่ยนความคิดของผู้เขียนไปอย่างสิ้นเชิงเลยจริงๆ
รถมาสด้า 3 คันที่เราได้รับมาทดสอบนั้น เป็นตัวถังซีดาน 4 ประตู รุ่นท็อปสุด 2.0SP ซึ่งเป็นรุ่นไฮไลท์ของการทดสอบครั้งนี้
เริ่มต้นการทดสอบ เราเดินทางออกจากโชว์รูม ไซม์
ดาร์บี้ มาสด้า สาขาพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์
โดยมีผู้โดยสารเต็มคันทั้งหมด 4 ท่านรวมคนขับ
สิ่งแรกที่สัมผัสได้คืออัตราเร่งที่แทบไม่ต่างไปจากเดิมเลย กล่าวคือ
มันยังคงให้อัตราเร่งที่ดีในระดับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรทั่วไป
ไม่หนีจากคู่แข่งในตลาดนัก
Mazda 3 ปี 2017 minor change
แต่จุดเด่นของเครื่องยนต์ SKYACTIV-G บล็อกนี้
ก็คือแรงบิดสูงสุดที่มีให้ 210 นิวตัน-เมตร ในรอบเครื่องยนต์ที่ 4,000
รอบต่อนาที บุคลิกของมันจึงมีอาการคล้ายเครื่องยนต์ดีเซลอยู่นิดๆ
นั่นหมายความว่ามันพอมีแรงดึงให้เล่นโดยไม่ต้องคิกดาวน์อย่างรุนแรงเหมือนเครื่องยนต์เบนซินทั่วไป
การกดคันเร่งสักครึ่งหนึ่งของระยะทั้งหมด
ก็พอจะเรียกเรี่ยวแรงให้พุ่งทะยานตามใจสั่งแล้ว
แต่อย่างไรก็คงเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบจริงๆไม่ได้อยู่ดี
การขับขี่ที่ความเร็วสูงประมาณ 120 กม./ชม.
บนถนนมอเตอร์เวย์ขาออกมุ่งหน้าบางปะอิน ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดี
พวงมาลัยให้ความมั่นคง
หากสังเกตดีดีจะพบว่าพวงมาลัยไม่จำเป็นต้องแก้อาการเป๋ซ้ายทีขวาทีบ่อยครั้งเหมือนกับรถญี่ปุ่นคันอื่น
ซึ่งมาสด้าระบุว่าเป็นผลมาจากระบบ G-Vectoring Control ด้วยเช่นกัน
นั่นทำให้ผู้เขียนสามารถจับพวงมาลัยได้อย่างนิ่งๆ ขณะขับขี่ที่ความเร็วสูง
แม้ว่าพื้นถนนจะไม่ราบเรียบนักก็ตาม
ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นตามไปด้วย
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ระหว่างทางได้มีโอกาสทดสอบระบบ MRCC หรือ Mazda
Radar Cruise Control ที่ช่วยปรับความเร็วตามคันหน้าได้อัตโนมัติ
โดยเพียงแค่ตั้งความเร็วที่ต้องการไว้
จากนั้นรถจะคอยตรวจสอบระยะห่างระหว่างคันหน้าอยู่ตลอดเวลา
หากรถคันหน้าชะลอช้าลง ระบบ MRCC
ก็จะสั่งให้ชะลอความเร็วตามคันหน้าด้วยเช่นกัน
แต่หากรถคันหน้าชะลอความเร็วจนต่ำกว่าประมาณ
20-25 กม./ชม. ระบบ MRCC
จะตัดการทำงานออกไปอัตโนมัติพร้อมสัญญาณแจ้งเตือนบนหน้าปัด
เป็นอันทราบว่าผู้ขับขี่จะต้องควบคุมคันเร่งด้วยตัวเองแล้ว
Mazda 3 ปี 2017 minor change
การเก็บเสียงทำได้ดีกว่ารุ่นที่แล้วพอสมควร
เสียงจากพื้นถนนและช่วงล่างเล็ดลอดเข้ามาในระดับต่ำ
ขณะที่เสียงลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน
ช่วยให้บรรยากาศภายในรถรู้สึกผ่อนคลาย
สมกับที่มาสด้าพยายามยกระดับรถคอมแพ็คคาร์ให้เข้าใกล้คำว่าพรีเมี่ยมมากที่สุดเท่าที่ต้นทุนของตัวรถจะเอื้ออำนวย
หลังจากที่แวะรับประทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อย
เราก็มุ่งหน้าต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยมีสื่อมวลชนอีกท่านเป็นผู้ขับ
ซึ่งใครที่เคยไปจะทราบดีว่าเส้นทางบนอุทยานเขาใหญ่มีโค้งให้เล่นอยู่พอสมควร
แถมเอื้ออำนวยให้ใช้ความเร็วได้พอสมควร
จึงถือเป็นด่านทดสอบช่วงล่างของรถคันนี้ได้เป็นอย่างดี
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ในช่วงที่รถแล่นผ่านทางโค้งเหล่านั้น
ผู้เขียนซึ่งนั่งอยู่เบาะหลัง
ก็พอจะสัมผัสได้ว่าตัวรถมีอาการโยนน้อยกว่าที่คาด
ทั้งๆที่ผู้ขับขี่ในขณะนั้นแทบไม่แตะเบรกด้วยซ้ำไป
ตัวรถสามารถแล่นไปตามโค้งได้อย่างฉับไวรวดเร็วโดยที่ผู้โดยสารยังคงรู้สึกสบาย
ไม่เหวี่ยง แม้แต่โค้งลึกๆ ที่คิดว่าจะต้องมีอาการโยนแรงๆกันบ้างล่ะ
พอเอาเข้าจริงๆกลับรู้สึกว่าช่วงล่างของ Mazda 3
สามารถรักษาอาการได้ดีกว่าที่คิด ซึ่งเหล่านี้เป็นผลจากระบบ G-Vectoring
Control ล้วนๆ
Mazda 3 ปี 2017 minor change
คุณงามความดีของช่วงล่าง Mazda 3 ใหม่ดังกล่าว
แสดงให้เห็นชัดเจนอีกครั้ง เมื่อมาถึงช่วงการทดสอบที่ 2
ซึ่งมีการจำลองสถานการณ์เปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็วประมาณ 40 และ 60
กม./ชม. โดยมาสด้ายังได้นำเอา Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่ยังไม่มีระบบ
GVC มาเทียบให้เห็นกับแบบจะจะด้วย
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ผลที่ได้คือ Mazda 3 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์
เมื่อมีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน จะรู้สึกถึงแรงโยนอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่รุ่นใหม่กลับรักษาอาการไว้ได้ดีกว่าอย่างน่าเหลือเชื่อ
รวมถึงยังสามารถหักเลี้ยวได้อย่างฉับไว
ตัวรถสามารถเบนทิศทางไปตามโค้งได้ดีกว่าอย่างชัดเจน
จึงไม่แปลกที่รถคันนี้สามารถเข้าโค้งได้อย่างสนุกสนาน
จนเรียกได้ว่าเป็นรถในกลุ่มซี-เซ็กเม้นต์ที่ขับสนุกที่สุดคันหนึ่งในตลาดขณะนี้ก็ว่าได้
Mazda 3 ปี 2017 minor change
สรุป
Mazda 3 ใหม่ ยังคงพัฒนาต่อยอดการเป็นรถยนต์ที่ขับสนุกขึ้นไปได้อีก
แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก
แต่ก็ถือว่าเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของรถคันนี้เอาไว้
ขณะที่ห้องโดยสารภายในเน้นผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าเป็นสำคัญ
ทำให้พื้นที่โดยสารตอนหลังไม่กว้างขวางเท่ากับคู่แข่ง
จุดเด่นสำคัญคือการอัดแน่นฟีเจอร์ความปลอดภัยแบบเต็มเอี้ยด
ชนิดที่ว่ารถยุโรปยังได้แค่มองแบบปริบๆ
แต่ฟีเจอร์ที่เป็นดาวเด่นของรถคันนี้ก็คือ G-Vectoring Control
ที่เปลี่ยนบุคลิกของรถคันนี้ให้น่าขับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ถึงแม้ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
แต่เมื่อได้ขับจะทราบทันทีว่ามันต่างจากคู่แข่งขนาดไหน ดังนั้น
เราจึงขอแนะนำว่าคุณต้องไปลองรถคันนี้ด้วยตัวคุณเองครับ
Mazda 3 ปี 2017 minor change
ราคาจำหน่าย Mazda 3 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่
รุ่น Sedan 2.0SP - 1,119,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ) 2.0S - 988,000 บาท 2.0C - 928,000 บาท 2.0E - 847,000 บาท
รุ่น Hatchback 2.0SP Sports - 1,119,000 บาท 2.0S Sports - 988,000 บาท 2.0C Sports - 928,000 บาท 2.0E Sports -847,000 บาท
สนับสนุนเนื้อหา